ค่ายโล่อัศวิน Porsche เผยรายละเอียดด้านเทคนิคเวอร์ชั่นล่าสุดที่ถูกติดตั้งให้กับ Porsche 911 Turbo S สำหรับการสร้างสมรรถนะที่เปี่ยมด้วยความเป็นยนตรกรรมสปอร์ตทรงพลัง และการขับขี่ที่สะดวกสบายในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน อันเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับ 911 Turbo S เจนเนอเรชั่นล่าสุด
โดยรายละเอียดที่ทำให้ 911 Turbo S เจนเนอเรชั่นล่าสุด นั้นก้าวล้ำขึ้นไปอีกขั้น คือ เทคโนโลยีที่ชื่อว่า PAA หรือ Porsche Active Aerodynamics ที่สามารถเปลี่ยนแปลงอากาศพลศาสตร์รอบตัวรถให้เข้าได้กับทุกสถานการณ์การขับขี่อย่างชาญฉลาด ซึ่งระบบนี้มีการเปิดตัวให้เป็นที่รู้จักกันไปแล้วในโมเดล 911 Turbo เจนเนอเรชั่นปี 2014 ก่อนจะนำมาต่อยอดกับยนตรกรรมรุ่นใหม่ๆ เช่น 718, Panamera และ Taycan
สำหรับระบบ PAA (Porsche Active Aerodynamics) ดังกล่าวจะประกอบไปด้วย ระบบ Active Front Spoiler ใต้กันชนหน้า ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ให้มีการทำงานที่รวดเร็ว และสามารถทนทานต่อแรงดันบริเวณใต้รถได้ดีขึ้น จากการเลือกใช้วัสดุพลาสติกที่มีความยืดหยุ่นสูงเรียกว่า Elastomer และจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนอิสระ แต่เชื่อมต่อกัน ซึ่งสามารถยืด และหดกลับได้จากการทำงานด้วยปั๊ม Actuator
โดยในการใช้ความเร็วปกติชุด Active Front Spoiler ทั้งฝั่งซ้าย และขวา จะถูกยื่นออกมา เพื่อจัดเรียงกระแสลมใต้ท้อง เพื่อลดแรงยกที่อาจเกิดขึ้นในด้านหน้า แต่หากเป็นการขับขี่แบบเต็มสมรรถนะทั้ง 3 ส่วน จะถูกยืดออกมา เพื่อสร้างประสิทธิภาพสูงสุดในการสร้างแรง Downforce เพื่อเพิ่มเสถียรภาพการยึดเกาะถนนอย่างเต็มที่
ตามด้วยชุด Cooling Air Flaps ที่ติดตั้งอยู่ในช่องดักอากาศทั้ง 2 ฝั่งของชุดกันชนหน้า โดยได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่ เพื่อช่วยให้เกิดแรงต้านอากาศที่น้อยลง รวมไปถึงยังสามารถควบคุมปริมาณอากาศเย็นให้เข้าสู่ระบบระบายความร้อนได้อย่างเหมาะสม จากการคำนวนโดยระบบ Intelligent Energy Management System ที่คำนวณความต้องการได้อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการระบายความร้อนด้วยพัดลม หรือจากกระแสลมภายนอก
โดยหลักการทำงานของชุด Air Flaps นี้ก็คือจะทำการปิดตัวลงให้นานสุดเท่าที่จะทำได้เมื่อใช้ความเร็วมากกว่า 70 กม./ชม. เพื่อสร้างความประหยัดเชื้อเพลิง ขณะที่เมื่อใช้ความเร็วเกินกว่า 150 กม./ชม. ระบบจะทำการค่อยๆ เปิด Air Flaps ตามระดับความเร็ว เพื่อสร้างเสถียรภาพอย่างเหมาะสมไปจนถึงระดับความเร็วสูงสุด และจะทำงานสัมพันธ์กับการเลือกใช้โหมดการขับขี่ เช่น Sport, Sport Plus หรือ Wet Driving Modes ต่อเมื่อระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว Porsche Stability Management (PSM) ถูกปิดการทำงาน และมีการกดปุ่มเพื่อเปิดใช้ชุดสปอยเลอร์
ปิดท้ายด้วยเทคโนโลยีของ Rear Wing ด้านหลังที่สร้างขึ้นจากวัสดุน้ำหนักเบากว่าเจนเนอเรชั่นที่แล้ว และมาพร้อมระบบ Electric Adjustment ซึ่งสามารถปรับองศาได้ด้วยระบบไฟฟ้า โดยจะทำงานควบคู่ไปกับฟังค์ชั่นการเลือกโหมดการขับขี่ที่ประกอบด้วยโหมด Eco ที่จะทำการปรับ Rear Wing ให้มีองศาการต้านทานอากาศน้อยที่สุด และหากขับขี่ด้วยโหมด Performance II ที่ใช้ความเร็วมากกว่า 260 กม./ชม. องศาของ Rear Wing ก็จะถูกปรับให้มีการต้านทานอากาศอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยลดภาระที่เกินขึ้นจากแรงกด Downforce ไปสู่ยางคู่หลังเช่นกัน
นอกจากนี้ตำแหน่งของ Rear Wing ที่มีการปรับเปลี่ยนใหม่ เมื่อถูกใช้งานร่วมกับ Active Front Spoiler ก็ยิ่งสามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านอากาศพลศาสตร์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของล้อหลัง เมื่อลองเปิดใช้ฟังค์ชั่นการขับขี่ใหม่ที่เรียกว่า Wet Mode ถูกปรับเซ็ทมาให้ควบคุม และสร้างเสถียรภาพสูงสุดในการขับขี่ ซึ่งจะทำงานโดยเซ็นเซอร์ในบริเวณซุ้มล้อหน้า เพื่อตรวจจับเสียงจากละอองน้ำที่มากระทบกับบังโคลน ทั้งยังสามารถเลือกให้ทำงานอัตโนมัติ หรือผู้ขับขี่เป็นคนเปิดใช้ระบบจากสวิทช์บนพวงมาลัย
สุดท้ายกับระบบ Airbrake สุดล้ำที่จะทำงานโดยอัตโนมัติ ในกรณีที่มีการเบรกเต็มรูปแบบจากความเร็วสูง ซึ่ง Active Front Spoiler และ Rear Wing จะถูกเปลี่ยนไปสู่รูปแบบของโหมด Performance เพื่อสร้างแรงต้านทานอากาศระดับสูง ไปพร้อมๆ กับการสร้างแรงกด Downforce เพิ่มขึ้น เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการเบรก พร้อมกับสร้างเสถียรภาพที่ดีในขณะเบรกอีกด้วย
CR.NetCarShow.com