Suzuki XL7 Anywhere We Belong

0

พูดถึง Suzuki XL7 หลายคนน่าจะรู้จักกันดี ในฐานะของยนตรกรรมอเนกประสงค์ MPV สไตล์ Crossover แบบ 7 ที่นั่ง ซึ่งนับจากวันแรกที่เปิดตัวในเมืองไทย ไล่มาถึงปัจจุบันก็ยังคงไร้ซึ่งการเปลี่ยนแปลงใดๆ จนเกือบจะพูดได้ว่า “ขาดความน่าสนใจ” … แต่แล้วความคิดดังกล่าวก็เปลี่ยนไปทันที หลังจากผ่านกิจกรรมครั้งล่าสุดแบบ One Day Trip บนเส้นทาง กทม. – เขาใหญ่ – กทม.

เพราะนอกจาก Suzuki XL7 รุ่นมาตรฐานที่สามารถพบเจอได้ตลอดงานแล้ว ก็คือ Suzuki XL7 เวอร์ชั่นที่ได้รับการตกแต่งพิเศษในสไตล์ “สายแคมป์” โดยเฉพาะ ซึ่งบอกเลยว่า “เซอร์ไพรส์” เอามากๆ เพราะแค่การติดตั้ง “เต็นท์” บนหลังคารถ ก็สามารถเปลี่ยนอารมณ์เดิมๆ ที่คุ้นตาให้น่าสนใจได้เกินคาด โดยประเด็นสำคัญก็คือ “สิ่งที่เห็น” … มันทำให้เราต้องกลับไปทบทวนดูใหม่อีกครั้ง ในคุณสมบัติพื้นฐานที่ไล่กันมาตั้งแต่ ออพชั่น ไปจนถึงสมรรถนะการขับขี่เลยทีเดียว

Suzuki XL7 มากับขนาดมิติตัวถังที่ประกอบด้วยความยาว 4,450 มม. ความกว้าง 1,775 มม. ความสูง 1,710 มม. ตามด้วยความยาวฐานล้อ 2,740 มม. และความกว้างฐานล้อหน้า 1,515 มม. และล้อหลัง 1,530 มม. พร้อมความสูงใต้ท้องที่แสดงความเป็น Crossover ด้วยระยะ 200 มม. ตลอดจนการตกแต่งซึ่งประกอบด้วย ด้านบนที่มากับราวแร็คหลังคา และด้านล่างที่มากับโทนสีดำ ตัดสลับสีเงิน ในส่วนของใต้กันชนหน้า – หลัง และสเกิร์ตข้าง ซึ่งมาพร้อมขอบซุ้มล้อ และคิ้วกันกระแทกสีดำบริเวณชายประตู รับกับล้ออัลลอยด์สไตล์ทูโทนขนาด 16 นิ้ว พร้อมยาง 195/60R16

  • ในการติดตั้งกล่องเก็บของด้านบนได้มีการใส่อุปกรณ์ส่วนควบเข้าไปเช่น บันได หรือเต้นท์นอน โดยที่บันไดจะถูกวางอยู่บนพื้น ซึ่งเป็นการกระจายน้ำหนักลงสู่พื้นอีกจุดทำให้จุดรับน้ำหนักที่มากสุดจะตกอยู่ที่พื้น ทำให้น้ำหนักถูกเฉลี่ยออกไป ไม่ทิ้งลงไปที่หลังคาทั้งหมด

ส่วนออพชั่นมาตรฐานที่ให้มาก็น่าจะอย่างที่ทราบกันดี เช่น ชุดไฟหน้าแบบ LED ปรับระดับ พร้อมไฟ Daytime Running Light และไฟตัดหมอก กับด้านหลังก็มากับไฟท้ายแบบ LED สไตล์ Light Guides ขณะที่ภายในห้องโดยสารก็ประกอบด้วย พวงมาลัยมัลติฟังค์ชั่นทรง D-shape, มาตรวัดพร้อมจอ LCD แบบสี, หน้าจอ Infotainment ขนาด 10 นิ้ว บนคอนโซล, ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ พร้อมช่องแอร์ตอนหลัง และกุญแจรถ Keyless Push Start แถมด้วยความอเนกประสงค์จากด้านหลัง คือ การปรับที่นั่งแถว 2 แบบ 60:40 และการปรับที่นั่งแถว 3 แบบ 50:50 ที่เรียกว่า “ขนสัมภาระ” กันได้แบบจุใจเลยทีเดียว

ขุมพลังมากับเครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.5 ลิตร ที่ให้กำลังสูงสุด 105 แรงม้า พร้อมแรงบิดสูงสุด 138 นิวตันเมตร ส่งกำลังสู่ล้อคู่หน้าด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด ควบคุมด้วยระบบพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พิเนี่ยน และรองรับโดยระบบช่วงล่างด้านหน้าแม็กเฟอร์สัน สตรัท พร้อมคอยล์สปริง จับคู่กับด้านหลังแบบทอร์ชั่นบีม พร้อมคอยล์สปริง และเสริมความมั่นใจด้วยดิสก์เบรก แบบมีช่องระบายความร้อนในด้านหน้า ที่มากับชุดดรัมเบรกด้านหลัง

ซึ่งหากอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ หลายคนคงคิดว่า “ธรรมดา” … แต่เชื่อเถอะว่าความ “ธรรมดา” ในแต่ละอย่าง คือ ส่วนประกอบที่ลงตัว และสร้างความ “พิเศษ” ออกมาให้ “สัมผัส” ได้อย่างชัดเจนทันทีเมื่อลองขับ เพราะแม้ตัวเลขพละกำลังจะไม่เว่อร์วัง แต่เมื่อได้ประกอบกับระบบส่งกำลัง และระบบพวงมาลัย ภายใต้การปรับเซ็ทอย่างลงตัว คุณจะพบว่า XL7 เป็น MPV ลำตัวยาว น้ำหนักราว 1,175 กก. ที่ปราดเปรียวเอาเรื่อง แถมยังมีตัวช่วยในการตัดสินใจที่ดี จากทัศนวิสัยในการขับขี่สไตล์รถอเนกประสงค์

ขณะที่ตัวช่วงล่างเองก็มีการปรับเซ็ทให้ “เป็นกลาง” เพื่อตอบโจทย์ได้อย่างหลากหลาย เช่น ความนุ่มนวลในความเร็วต่ำที่สัมผัสได้บนถนนไร้ซึ่งอารยะ แล้วก็ยังมีความสปอร์ตให้จับต้องได้บนถนนอันศิวิไลซ์ และเอื้ออำนวยให้ใช้ความเร็วได้อย่างเต็มที่ โดยสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับว่าทำได้ดีจนน่าประทับใจก็คือ ย่านความเร็วตั้งแต่ 100 กม./ชม. ขึ้นไปถึงราวๆ 130 กม./ชม. ที่เรารู้สึกได้ว่ามันเต็มไปด้วยความเพลิดเพลิน และมั่นใจ แถมยังได้อัตราสิ้นเปลืองที่ดีงามตามมาอีกด้วยเช่นกัน

จากทั้งหมดที่กล่าวมา เรามั่นใจว่าหลายคนน่าจะพอทราบดีในคุณสมบัติของ Suzuki XL7 โดยเฉพาะเรื่องของการขับขี่ในชีวิตประจำวัน แต่ก็อย่างที่บอกครับ ว่าทันทีที่ได้เห็นเวอร์ชั่นตกแต่งพิเศษสไตล์ “สายแคมป์” กระบวนความคิดเราก็เปลี่ยนไปทันที ด้วยมี “ความอยาก” ของ “สายฝุ่น” เป็นสารตั้งต้น ผสมองค์ประกอบของความสูงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 200 มม. และความจุของห้องเก็บสัมภาระที่รองรับได้ถึง 803 ลิตร ซึ่งมากพอให้คุณเก็บข้าวของโยนใส่รถ เพื่อหลีกหนีความวุ่นวายไปปลีกวิเวกได้สบายๆ ซัก 2-3 วัน หรือจะมากกว่านั้นก็ไม่ใช่ปัญหา

และการที่จะไปให้ถึงจุดนั้นได้เส้นทางที่ใช้แน่นอนล่ะว่าคงไม่ใช่ “ถนนดำ” ซึ่งทริปทดสอบด้วยรถเดิมๆ ที่ผ่านมาก็ได้แสดงให้เห็น ผ่านเส้นทางธรรมชาติอันเต็มไปด้วย กรวดหินดินทราย, ทางดินเปียกๆ ผสมทางแห้งบ้าง แถมด้วยร่องลึก และหลุมบ่อ พอให้ได้แสดงศักยภาพในการสร้างความมั่นใจ ซึ่งทุกอย่างก็เป็นไปอย่างราบรื่นสบายๆ แต่หากโชคไม่ดีตกหลุมลึก หรือเจอดินเปียกลื่นให้เกิดอาการ “สลิป” เบาๆ เราก็แค่ใช้น้ำหนักเท้าบนคันเร่งให้เนียน พร้อมกับบิดพวงมาลัยช่วยนิดหน่อยก็ผ่านฉลุย แต่หากอยากพิสูจน์ความสามารถของรถ ก็แค่ลองกดปิด Traction Control เพื่อเปิดโอกาสให้ล้อคู่หน้าหมุนฟรี ด้วยแรงบิดที่มากพอจะหาแรงยึดเกาะ และส่งตัวเองออกจากพันธนาการได้

ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องยากอะไร แถมยังได้มาซึ่งความสนุกสนานในการขับขี่อีกหนึ่งรูปแบบ ที่เราจะไม่ทราบได้เลย หากไม่มีแรงบันดาลใจจากตัวโชว์มา “ปลดล็อค” ความคิด ว่า Suzuki XL7มีความสามารถมากกว่าแค่บนถนนดำ และช่วยให้เข้าใจนิยาม “Multi-Dynamic Crossover” ชัดเจนมากขึ้น เช่นเดียวกับคุณสมบัติของความอเนกประสงค์

  • สามารถขึ้นไปนอนได้ 1 คน โดยไม่มีผลต่อหลังคา เนื่องจากน้ำหนักมีไม่มากเกินกว่าที่กำหนด เต้นท์และอุปกรณ์ส่วนควบมีน้ำหนักราว 70 กก

จนเราเองยังแอบคิดว่าน่าจะดีไม่น้อย ถ้าจะมีเวอร์ชั่นพิเศษในสไตล์นี้ แบบนี้ออกมาจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ โดย บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย จํากัด เพราะถ้ามองให้ดี นี่ก็คือ “การอัพเกรด” อีกหนึ่งรูปแบบ เพียงแต่เปลี่ยนเป้าหมายจากสิ่งที่จับต้องได้ไม่ว่าจะเป็นงานดีไซน์ หรือออพชั่น มาเป็นเรื่อง “ความรู้สึก” ของผู้ที่ได้เห็น และสัมผัส เพื่อตอกย้ำในสิ่งที่หลายคน “มองข้าม” เช่น “ความอเนกประสงค์” ให้มีความโดดเด่น และชัดเจนยิ่งขึ้น

แม้พื้นฐานจะยังคงเป็น Suzuki XL7 ที่คุ้นเคยก็ตาม แถมจากสิ่งที่เราได้ประสบ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติ ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำเรามอง … แล้วก็อาจจะหลายคนด้วยเช่นกันที่มองว่า ค่าตัวเพียง 779,000 บาทของ Suzuki XL7 นั้นเป็นอะไรที่จ่ายไปแล้ว “คุ้มค่า” มากขึ้นอีกเยอะทีเดียว

Leave A Reply