Ferrari 812 Competizione โมเดลพิเศษจำนวนจำกัด

0

หลังจากเพิ่งปล่อยรุ่นพิเศษ Ferrari 812 Special Edition ไปหมาดๆ ค่ายม้าลำพอง Ferrari ก็เดินหน้าลุยตลาดด้วยโมเดล 812 อีกรุ่น คือ Ferrari 812 Competizione ที่ต่อยอดมาจากรุ่น Ferrari 812 Superfast ซึ่งวางตำแหน่งให้อยู่ในฐานะของโมเดลพิเศษจำนวนจำกัดแบบ Limited-Edition Special Series โดยมีทั้งเลือกเป็นเจ้าของกันถึง 2 รุ่นตัวถัง คือ Ferrari 812 Competizione เวอร์ชั่นมาตรฐาน และ Ferrari 812 Competizione A เวอร์ชั่นเปิดหลังคาแบบ Targa

โดยจุดเด่นของทั้ง 2 รุ่น ก็คือ “สมรรถนะ” ที่ดุดันจากขุมพลัง 6.5 ลิตร แบบ V12 ไร้ระบบอัดอากาศ ที่พัฒนามาจากรุ่น 812 Superfast ในการสร้างเรี่ยวแรงระดับ 830 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 692 นิวตันเมตร ที่มาพร้อมรอบเครื่องยนต์ซึ่งกวาดสูงสุดเพดานได้ถึง 9,500 รอบต่อนาที

ซึ่งรายละเอียดของการพัฒนานั้นประกอบไปด้วย การปรับเปลี่ยนวัสดุ “ก้านสูบ” เป็นแบบไททาเนียม ทำให้ลดน้ำหนักส่วนเกินลงไปได้ถึง 40% ขณะที่ “สลักลูกสูบ” ได้ทำการเคลือบสาร DLC (Diamond-Like Carbon) และ “เพลาข้อเหวี่ยง” ที่ปรับสมดุลใหม่ และใช้วัสดุที่เบาลงจากเดิม 3%

ต่อเนื่องด้วย “ฝาสูบ” ที่มีการออกแบบใหม่ทั้งหมด เช่น “แคมชาร์ฟ” ที่มีการเคลือบสาร DLC (Diamond-Like Carbon), “กระเดื่องกดวาล์ว” ซึ่งพัฒนาจากรถแข่ง Ferrari F1 เพื่อให้มี “ระยะยก” ที่สูงกว่าปกติ และนำมาใช้กับเครื่องยนต์บล็อกนี้โดยเฉพาะ

ตามด้วย “ระบบไอดี” ที่ปรับปรุงใหม่ให้เหมาะสมกับพละกำลังที่เพิ่มขึ้น ไล่มาตั้งแต่ ช่องดักอากาศด้านหน้าแบบ Single Front Air Intake ที่นำมาใช้เป็นครั้งแรก เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการส่งต่อปริมาณอากาศเย็นไปยังท่อไอดี และแผงระบายความร้อนได้มากขึ้น ทั้งยังมีการปรับขนาดของ “ท่อไอดี”เป็นแบบแปรผัน เพื่อสร้างการตอบสนองที่ดีในรอบสูง และมีแรงบิดให้ใช้ในทุกย่านความเร็วรอบเครื่องยนต์ ไปจนถึงระบบระบายความร้อนทั้งหมดที่พัฒนาขึ้นใหม่ ทำให้ลดความร้อนได้เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับ 812 Superfast

นอกจากนี้ยังมีการอัพเกรดอ่างน้ำมันเครื่องใหม่ เพื่อรองรับอัตราการไหลเวียนที่เพิ่มขึ้น 30% มาพร้อมกับการปรับปรุงห้องกั้น และปริมาณการเก็บใหม่ ที่ช่วยให้ลดการใช้น้ำมันเครื่อลดลง ขณะเดียวกันก็เปลี่ยนไปใช้ปั๊มน้ำมันเครื่องใหม่เป็นแบบแปรผัน ซึ่งจะช่วยปรับแรงดันให้มีความต่อเนื่องทุกช่วงการทำงาน แม้กระทั่งน้ำมันเครื่องก็เปลี่ยนไปใช้ Shell Helix 5W40 ที่มีความหนืดน้อยกว่า และเหมาะสมกับการปรับปรุงอัตราการไหลเวียนใหม่มากกว่า

ขณะเดียวกันระบบฉีดจ่ายเชื้อเพลิงแบบ Direct Injection ก็มีการอัพเกรดใหม่ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการปล่อยมลพิษ รวมถึงมีการปรับจังหวะ และเพิ่มแรงดันการฉีดจ่ายเชื้อเพลิงใหม่ ภายใต้การควบคุมอย่างแม่นยำจากสมองกล ECU ที่ยังสามารถควบคุมเรื่องของงการเผาไหม้ เพื่อให้เครื่องยนต์ทำงานด้วยประสิทธิภาพทางสูงสุดเสมออีกด้วย

ด้านระบบส่งกำลังจะมากับชุดเกียร์อัตโนมัติ 7 สปีด คลัทช์คู่ (F1 DCT) ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในเครื่องยนต์แบบ V12 โดยเฉพาะในการเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำที่สามารถทำได้รวดเร็วขึ้นกว่าเดิมราว 5% และยังสามารถในการลากรอบได้เพิ่มขึ้นอีกถึง 500 รอบต่อนาทีอีกด้วย

และที่สำคัญ Ferrari 812 Competizione ทั้ง 2 รุ่น มาพร้อมกับการติดตั้งเทคโนโลยี เพื่อช่วยยกระดับการขับเคลื่อนให้ถึงขีดสุดศักยภาพ เช่น ระบบเลี้ยว 4 ล้อ (Independent Four-Wheel Steering) ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก โดยสามารถสั่งการให้ล้อฝั่งซ้าย และขวาทำงานแยกอิสระจากกัน เพื่อควบคุมองศาการเลี้ยวของแต่ละล้ออย่างเหมาะสม,  ระบบ SSC (Side Slip Control) เวอร์ชั่น 7.0 ที่มากับด้วยตัวช่วยด้านอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อาทิ ระบบ Electronic Differential ที่ควบคุมเฟืองท้าย (E-Diff 3.0) ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์, ระบบ Traction Control (F1-Trac) ในการทำหน้าที่ควบคุมการยึดเกาะถนน, ระบบ SCM-Frs สำหรับควบคุมช่วงล่าง, ระบบ FDE กับการควบคุมแรงดันเบรกขณะขับขี่ด้วยขีดจำกัดสูงสุดในโหมด Race ไปจนถึงระบบ (CT-Off) และ Virtual Short Wheelbase 3.0 ที่รวมเอาระบบบังคับเลี้ยวไฟฟ้า และระบบควบคุมการเลี้ยวอิสระของล้อหลังเข้าไว้ด้วยกัน

ทางด้านรูปลักษณ์ของ Ferrari 812 Competizione ถูกออกแบบให้มากับคุณสมบัติด้านอากาศพลศาสตร์ขั้นสูง เช่น ช่องดักอากาศกันชนหน้าแบบ Single Front Air Intake ประกบด้วยช่องดักอากาศแบบ “Aero” ทำจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ที่หยิบยืมดีไซน์มาจาก SF90 Stradale, “ครีบ” (Blade) บนฝากระโปรง, แก้มข้างด้านหลังล้อหน้า ที่นอกจากช่วยในเรื่องของการจัดเรียงกระแสลมแล้ว ยังส่งผลให้สามารถระบายความร้อนได้ดีขึ้น 10% นอกจากนี้กระแสลมที่ไหลผ่านจาก “ช่องครีบ” (Blade) บนฝากระโปรง ยังถูกจัดการให้อยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง โดยไม่รบกวนการขับขี่ ให้กับเวอร์ชั่นเปิดประทุน 812 Competizione A ก็ตาม

ตามด้วยการติดตั้ง Splitter ใต้กันชนหน้า เพื่อทำหน้าที่จัดการกับกระแสลมใต้ท้องรถ ไปพร้อมๆ กับสร้างแรงกด Downforce ส่วนหน้า จากการติดตั้ง Front Diffuser ปรับได้แบบ Passive Mobile Aero ซึ่งจะทำงานเมื่อใช้ความเร็วสูงกว่า 250 กม./ชม. เสริมด้วยชุดสเกิร์ตด้านข้างทรง S-Shaped  พร้อม Diffuser ด้านหลังขนาดใหญ่ ดีไซน์แบบปิดทึบ พร้อมครีบรีดอากาศ 3 คู่ ซึ่งนำมาใช้เป็นครั้งแรกกับ Production Car เพื่อจัดสรรทิศทางการไหลของอากาศ และสามารถสร้างงแรงกด Downforce ได้เพิ่มถึง 10% รับกับดีไซน์ของสปอยเลอร์รูปทรง Ducktail ซึ่งมาพร้อมการพัฒนา และออกแบบจากเทคโนโลยีของรถแข่ง Formula 1 ที่สามารถสร้างแรงกด Downforce ระดับ 25% ในระดับพื้นฐาน และจะขยับขึ้นไปที่ 35% หากมีการปล่อยไอเสียจากด้านหลังออกมาทำปฏิกิริยากับอากาศโดยรอบ

ส่วน 812 Competizione A เวอร์ชั่นเปิดหลังคามากับความแตกต่างในงานดีไซน์ ด้วยการติดตั้งสปอยเลอร์ที่มีลักษณะคล้าย “สะพาน” เพื่อทำหน้าที่จัดเรียงกระแสลม รวมถึงสร้าง Downforce ให้อยู่ในระดับเดียวกับเวอร์ชั่นหลังคาแข็ง เสริมด้วยการติดตั้งแผ่นกั้นอากาศด้านบนของกระจกบังลมหน้า เพื่อเบี่ยงเบนทิศทางกระแสลมไม่ให้รบกวนห้องโดยสาร ตลอดจนป้องกันการเกิดแรงดันบริเวณด้านหลังศีรษะ โดยการเจาะช่องระบาย เพื่อให้อากาศไหลผ่านไปตามทิศทางที่กำหนด

ทั้งยังมีล้อขนาด 20 นิ้วผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ ที่นำมาใช้เป็นครั้งแรกอีกด้วย โดยทำให้น้ำหนักโดยรวมลดลงถึง 3.7 กก. พร้อมการเคลือบด้วยสารที่ใช้วิศวกรรมอากาศยาน และยานอวกาศ เพื่อช่วยสะท้อน และกระจายความร้อน ซึ่งจะมาพร้อมกับยางสมรรถนะสูงรุ่น Michelin Cup2R ที่ออกแบบพัฒนามาเป็นพิเศษโดยเฉพาะ

 

CR.NetCarShow.com

Comments are closed.